วิชาก้าวทันโลกศึกษา



                                                  กฎหมาย
ความหมายของกฎหมาย


     กฎหมาย คือ กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือข้อบังคับที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอย่างหนึ่งอย่างใดของสังคม ความสำคัญของกฎหมาย

ความสำคัญของกฎหมาย
   1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม

   2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

   3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม คนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม

   4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น

องค์ประกอบของกฎหมาย
1.กฎหมายเป็นบทบัญญัติ.
2.ผู้มีอำนาจตรากฎหมาย จะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ
3.บทบัญญัติที่กำหนดไว้ มี ๒ ประเภท คือ
3.1บทบัญญัติ ที่ใช้ในการบริหารบ้านเมือง
3.2 บทบัญญัติที่ใช้บังคับบุคคล ในความสัมพันธ์ระหว่างกัน (ไม่เกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง)
4. กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องได้รับโทษ หรือ ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม

ประเภทของกฎหมาย
1.กฎหมายรัฐธรรมนูญ
2.พระราชบัญญัติ
3.พระราชกำหนด
4.พระราชกฤษฎีกา
5.กฎกระทรวง

ศักดิ์ของกฎหมาย
    คือ ลำดับความสูงต่ำของกฎหมาย
    การจัดศักดิ์ของกฎหมายมีความสำคัญต่อกระบวนวิธีการต่าง ๆ ทางกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ การตีความ และการยกเลิกกฎหมาย เช่น หากกฎหมายฉบับใดมีลำดับชั้นของกฎหมายสูงกว่า กฎหมายฉบับอื่นที่อยู่ในลำดับต่ำกว่าจะมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับกฎหมายสูงกว่านั้นมิได้ และอาจถูกยกเลิกไปโดยปริยาย
เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมาย
    เกณฑ์ในการกำหนดศักดิ์ของกฎหมายได้แก่ การพิจารณาจากผู้ตรากฎหมายฉบับนั้น ๆ ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยผู้แทนของปวงชนคือรัฐสภา เป็นการที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาร่วมกันใช้อำนาจสูงสุดแห่งรัฐในการออกกฎหมาย จึงให้มีศักดิ์สูงสุด ส่วนที่มีศักดิ์รองลงมาได้แก่ พระราชบัญญัติและพระราชกำหนด ซึ่งได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรก่อนแล้วจึงผ่านไปยังวุฒิสภา เป็นการแยกกันใช้อำนาจ
 
   ลำดับศักดิ์ของกฎหมาย
   ว่ากันแต่ประเทศไทยในปัจจุบัน มีทั้งกฎหมายลายลักษณ์อักษร กฎหมายจารีตประเพณี และหลักกฎหมายทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ากฎหมายส่วนใหญ่ของไทยอยู่ในรูปลายลักษณ์อักษรมากที่สุด
กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร
1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดรูปแบบการปกครองและระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรับรองและส่งเสริมสิทธิต่าง ๆ ของประชาชนทั้งประเทศ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังเป็นกฎหมายแม่บทของกฎหมายอื่นทุกฉบับ กฎหมายอื่นจึงจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญมิได้ มิเช่นนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้เลย
มักมีผู้เรียก "รัฐธรรมนูญ" ว่า "กฎหมายรัฐธรรมนูญ" พึงทราบว่า "กฎหมายรัฐธรรมูญ" (: constitutional law) นั้นเป็นคำเรียกสาขาวิชาทางนิติศาสตร์และเรียกกฎหมายมหาชนแขนงหนึ่งซึ่งว่าด้วยการวางระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง ส่วน "รัฐธรรมนูญ" (: Constitution) นั้นคือกฎหมายจริง ๆ ฉบับหนึ่งซึ่งจัดระเบียบการปกครองรัฐในทางการเมือง
2.กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายชนิดนี้อยู่ในรูปของพระราชบัญญัติในประเทศไทย และมีศักดิ์เดียวกันกับพระราชบัญญัติแต่มีวิธีการตราที่พิสดารกว่าพระราชบัญญัติเนื่องเพราะเป็นกฎหมายที่อธิบายรายละเอียดต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ
3.พระราชบัญญัติ และประมวลกฎหมาย เป็นกฎหมายชั้นรองลงมาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นกฎหมายที่ถือได้ว่าคลอดออกมาจากท้องของรัฐธรรมนูญโดยตรง องค์กรที่มีหน้าที่ตรากฎหมายสองประเภทนี้ได้แก่รัฐสภา
4.พระราชกำหนด เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจในการตราให้แก่ฝ่ายบริหารคือคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ใช้ในกรณีรีบด่วนหรือฉุกเฉิน พระราชกำหนดนั้นเมื่อมีการประการใช้แล้วคณะรัฐมนตรีต้องนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ถ้ามิได้รับความเห็นชอบก็เป็นอันสุดสุดลง แต่ผลของการสิ้นสุดลงนี้ไม่กระทบกระเทือนบรรดาการที่ได้กระทำลงระหว่างใช้พระราชกำหนดนั้น
5.พระราชกฤษฎีกา เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดซึ่งเป็นหลักการย่อย ๆ ของพระราชบัญญัติหรือของพระราชกำหนด เปรียบเสมือนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่อธิบายขยายความในรัฐธรรมนูญ
6.กฎกระทรวง เป็นกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายบริหารและไม่ต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภา มีลักษณะคล้ายพระราชกฤษฎีกาเพราะศักดิ์ของผู้ตราต่างกัน

แบบทดสอบ

อ้างอิง
http://www.dek-d.com/content/view.php?id=624#ixzz1ALjbCBOA
http://www.thaijustice.com/manual_law/viewmanual.asp?bame=book1&fname=5.htm
http://www.tanaysmart.com/index.php/2009-09-26-18-56-06/1-2009-09-27-06-09-36/72-2009-09-27-15-33-29.html
http://guru.thaibizcenter.com/articledetail.asp?kid=3815


     กฎหมายแพ่ง
    1. กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายเอกชนว่าด้วยเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ ระหว่างเอกชนต่อเอกชน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย กฎหมายแพ่งของไทยบัญญัติในรูปของประมวลกฎหมายรวมกับกฎหมายพาณิชย์  รวมเรียกว่า กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีสาระพอสังเขป ได้ดังนี้
  1.1 บุคคล หมายถึง สิ่งซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย มี 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล
           1.1.1 บุคคลธรรมดา หมายถึง มนุษย์ซึ่งมีสภาพบุคคล และสิ้นสภาพบุคคลโดยการตายตามธรรมชาติ หรือตายโดยการสาบสูญ (กรณีปกติ 5 ปี และกรณีไม่ปกติ 2 ปี คือ อยู่ในระหว่างการรบสงคราม ประสบภัยในการเดินทาง เหตุอันตรายต่อชีวิต)
           1.1.2 นิติบุคคล หมายถึง สิ่งที่กฎหมายรับรองให้เป็นสภาพบุคคลสมมุติ ให้มีสิทธิหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา แบ่งเป็น 2 ประเภท  คือ
 ก) นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้แก่
    1) กระทรวง ทบวง กรม
    2) วัดวาอาราม ที่จดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสงฆ์
    3) ห้างหุ้นส่วนที่ได้จดทะเบียนแล้ว
    4) บริษัทจำกัด
    5) มูลนิธิ สมาคม
ข) นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ได้แก่ นิติบุคคลที่มีกฎหมายพิเศษรับรองสถานะ เช่น พรรคการเมือง รัฐวิสาหกิจ สหกรณ์
  1.2 ทรัพย์ กฎหมายได้แยกลักษณะของทรัพย์สินออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
         1.2.1 สังหาริมทรัพย์ ได้แก่
      ก) ทรัพย์ทั้งหลายอันอาจเคลื่อนที่ได้ จากที่แห่งหนึ่งไปแห่งอื่น ไม่ว่าเคลื่อนด้วยแรงเดินแห่งตัวทรัพย์นั้นเอง หรือ ด้วยกำลังภายนอก เช่น
         1) เคลื่อนที่ด้วยแรงของทรัพย์นั้นเอง เช่น หมู ช้าง วัว ควาย ฯลฯ
         2) เคลื่อนด้วยกำลังภายนอก เช่น รถยนต์ คอมพิวเตอร์ โต๊ะ เก้าอี้ ฯลฯ
      ข) กำลังแรงแห่งธรรมชาติอันอาจถือเอาได้ เช่น ก๊าซ  กระแสไฟฟ้า
      ค) สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับสังหาริมทรัพย์นั้นด้วย เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิจำนำ สิทธิจำนอง สิทธิเครื่องหมายการค้า ฯลฯ
         1.2.2 อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
         1) ที่ดิน
         2) ทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินนั้น เช่น ตึก โรงเรือน บ้าน ไม้ยืนต้นต่างๆ ฯลฯ
         3) ทรัพย์อันประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดิน เช่น หิน กรวด ทราย
         4) สิทธิทั้งหลายอันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดิน เช่น สิทธิครอบครอง สิทธิจำนอง กรรมสิทธิ์ในที่ดิน
   1.3 นิติกรรม หมายถึง การกระทำใดๆ ที่ชอบด้วยกฎหมายและใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ ระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ  การแสดงเจตนาของนิติกรรมอาจจะแสดงด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการนิ่งก็ได้  นิติกรรมแม้จะทำด้วยใจสมัคร ก็มีข้อบกพร่อง ถ้ากฎหมายเข้าไปควบคุมและไม่อนุญาตให้ทำ โดยมี 2 ลักษณะ                                     
    1.โมฆะกรรม หมายถึง การกระทำใดๆ ลงไป โดยเสียเปล่า ไม่มีผลผูกพันธ์ใดๆ  ได้แก่                         
1.1 นิติกรรมที่ต้องห้ามโดยกฎหมายชัดแจ้ง เช่น ทำสัญญาจ้างให้กระทำผิดกฎหมาย จ้างฆ่าคน        
1.2 นิติกรรมเป็นการพ้นวิสัย เช่น ทำสัญญาซื้อขายดวอาทิตย์                                                               
1.3 นิติกรรมที่เป็นการขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีขอประชาชน                         
1.4 นิติกรรมผิดแบบ เช่น การทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่  การเช่าซื้อต้องทำหนังสือ หากไม่ปฏิบัติก็ตกเป็นโมฆะ                                                         
   2.โมฆียกรรม หมายถึง นิติกรรมที่มีผลต่อคู่กรณี แต่ไม่สมบูรณ์โดยกฎหมาย เนื่องจากความสามารถของผู้กระทำนิติกรรม เช่น ผู้เยาว์ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ ผู้ไร้ความสามารถ เป็นต้น หากมีการให้การรับรอง นิติกรรมนั้นก็สมบูรณ์ หรือ บอกล้างได้ภายใน 10 ปี ก็จะตกเป็นโมฆะกรรม
1.4  สัญญา เป็นนิติกรรมชนิดหนึ่ง สัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องมีคู่สัญญาถูกต้องตามสาระสำคัญ และมีวัตถุประสงค์ไม่ต้องห้ามตามกำหมาย หรือขัดขวางต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ได้แก่
    1.4.1 สัญญากู้ยืมเงิน  การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้ยืม จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
    1.4.2 สัญญาซื้อขาย  สัญญาซื้อขาย คือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า ผู้ขาย โอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่า ผู้ซื้อ โดยผู้ซื้อตกลงจะชำระราคาทรัพย์สินให้แก่ผู้ขาย  หากพูดถึงการซื้อขาย ก็จะต้องกล่าวถึง สัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งส่วนให้จะทำสัญญากันก่อน ก่อนซื้อขายส่งมอบทรัพย์สินกันจริง หลักเกณฑ์พิจารณาได้ดังนี้
           สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขาย ทรัพย์สินประเภท อสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือ อย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางเงินมัดจำไว้ หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้  และกฎหมายยังบังคับถึง สัญญาซื้อขาย สังหาริมทรัพย์ ที่มีราคาตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไปด้วย ที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
          สัญญาซื้อขาย อสังหาริมทรัพย์  ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ (พนักงานที่ดิน) หากไม่ทำถือว่าเป็นโมฆะ
    1.4.3 สัญญาขายฝาก  สัญญาขายฝาก หมายถึง สัญญาซื้อขายที่ผู้ขาย มีสิทธิไถ่ถอนได้ทรัพย์คืนตามเวลาที่กำหนด หากไม่ไถ่ถอนภายในกำหนด กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ก็จะตกไปยังผู้ซื้อนับตั้งแต่เวลาที่ทำสัญญากัน
    1.4.4 สัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อ หมายถึง สัญญาที่เจ้าของทรัพย์ เอาทรัพย์ออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือให้ทรัพย์สินนั้นแก่ผู้เช่า โดยมีเงื่อนไข ว่าต้องชำระเงินครบตามคราวที่กำหนด และที่สำคัญ สัญญาเช่าซื้อต้องทำเป็นหนังสือ มิฉะนั้นถือเป็นโมฆะ
     เจ้าของทรัพย์บอกเลิกสัญญาได้ ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่า 2 งวดติดต่อกัน หรือผู้เช่าซื้อผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ โดยผู้ให้เช่าซื้อได้เงินค่าเช่าที่ชำระไปแล้วทั้งหมดและเรียกทรัพย์คืนได้
   1.4.5 สัญญาจำนอง  หมายถึง สัญญาที่ผู้จำนองเอาทรัพย์สิน ประเภท อสังหาริมทรัพย์ เรือ แพ หรือ เครื่องจักร ไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้
  1.4.6  สัญญาจำนำ หมายถึง สัญญาที่ผู้จำนำ ส่งมอบทรัพย์สินประเภท สังหาริมทรัพย์ แก่ผู้รับจำนำและตกลงว่าจะมาไถ่ถอนตามวันและเวลาที่กำหนด หากไม่มาไถ่ถอน ผู้รับจำนำมีสิทธิในทรัพย์สินนั้น
   1.4.7  สัญญาค้ำประกัน หมายถึง การที่ผู้ค้ำประกันทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่า เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แล้ว ตนจะชำระหนี้แทน สัญญาค้ำประกัน ต้องทำเป็นหนังสือ จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้
1.5 ครอบครัว
   1.5.1 การหมั้น หมายถึง การที่ฝ่ายชาย ตกลงกับฝ่ายหญิง ว่าจะสมรสกับหญิงนั้น โดยมีของหมั้นเป็นประกัน สาระสำคัญของการหมั้น
       1. การหมั้นนั้นจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ผู้เยาว์จะทำการหมั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง
       2. ถ้าหมั้นแล้วสมรส ของหมั้นจะกลายเป็นสินส่วนตัวของฝ่ายหญิง
       3. ถ้าหมั้นแล้วไม่สมรส
          3.1 เนื่องจากความผิดของฝ่ายชาย ฝ่ายหญิงยึดของหมั้นได้
          3.2 เนื่องจากความผิดของฝ่ายหญิง หญิงต้องคืนของหมั้นให้ฝ่ายชาย ชายเรียกสินสอดคืนได้    
          3.3 ฝ่ายที่เสียหายเรียกค่าทดแทนได้
          3.4 จะฟ้องให้ศาลบังคับให้มีการสมรสไม่ได้
  1.5.2 การสมรส
 1. การสมรสจะกระทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ หากอายุต่ำกว่านี้ต้องให้ศาลอนุญาต                
 2. การสมรส จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อ จดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน
  1.5.3 การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม
1. บุคคลผู้รับบุตรบุญธรรมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และต้องอายุมากกว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี  หากผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมยังเป็นผู้เยาว์ ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือ ผู้แทน โดยชอบธรรม และคู่สมรส ด้วย (ยกเว้นคู่สมรสวิกลจริตหรือสาบสูญเกินกว่า 1 ปี )
2. การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ ถ้าจดทะเบียนตามกฎหมาย บุตรบุญธรรมจะมีฐานะเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกำหมายทุกประการ ขณะเดียวกันก็ไม่เสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ให้กำเนิด กฎหมายถือว่า บิดา-มารดาโดยกำเนิด หมดอำนาจปกครองนับตั้งแต่วันที่เด็กเป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น
3. การเลิกรับบุตรบุญธรรม จะเลิกได้เมื่อทั้งคู่ยินยอมซึ่งกันและกัน หากบุตรบุญธรรมอายุต่ำกว่า 15 ปี จะฟ้องเลิกรับบุตรบุญธรรมไม่ได้ เว้นแต่ผู้มีสิทธิให้ความยินยอมในการรับบุตรบุญธรรมยินยอม
4. เมื่อเลิกรับบุตรบุญธรรม บุตรบุญธรรมกลับคืนสู่ฐานะในครอบครัวเดิม
1.5.4 มรดก
1. มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่เจ้าของมรดกตายหรือสาบสูญ
2. ทายาท
  2.1 ทายาทโดยธรรม ได้แก่ คู่สมรส และญาติสนิท สิทธิการรับมรดกจะแบ่งให้ลดลงตามความห่างของญาติ ถ้าเจ้าของมรดก มีบิดามารดา คู่สมรสและบุตรทุกคน จะได้คนละเท่ากันคนละส่วน  2.2 ทายาทโดยพินัยกรรมในกรณีเจ้าของมรดก มีคู่สมรสต้องแบ่งทรัพย์สินแก่อีกฝ่ายหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นมรดกตกทอดต่อไป
2.3 ผู้ที่จะทำพินัยกรรมได้ต้องมีอายุ 15 ปีขึ้นไป และต้องไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถ
2.4
การเสียมรดก
       2.4.1
ทายาทโดยชอบธรรมยักย้ายถ่ายเท ปิดบังทรัพย์มรดก โดยทุจริต
       2.4.2
ทายาทตามพินัยกรรม หลอกลวงหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำพินัยกรรมขึ้น



กฎหมายอาญา

     กฎหมายอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยความผิดและโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิด ตัวบทที่สำคัญๆ ของกฎหมายอาญาก็คือ ประมวลกฎหมายอาญา นอกจากประมวลกฎหมายอาญาแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติอื่นๆที่กำหนดโทษทางอาญาสำหรับการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินั้น เช่น พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พระราชบัญญัติการพนัน เป็นต้น
    ทุกสังคมย่อมมีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับความประพฤติของสมาชิกในสังคมนั้นๆ บุคคลใดมีการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ จัดเป็นการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้นกฎหมายอาญาจึงเป็นกฎหมายซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันสังคม เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยโดยการกำหนดว่า การกระทำใดเป็นความผิดอาญาและได้กำหนดโทษของผู้ฝ่าฝืน กระทำความผิดนั้นๆ
1. ความผิดทางอาญา   ความผิดทางอาญา คือ การกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสังคมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ   เมื่อบุคคลใดกระทำความผิดทางอาญา จะต้องได้รับโทษตามกฎหมายมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของการกระทำความผิด กฎหมายมิได้ถือว่าการกระทำความผิดทุกอย่างร้ายแรงเท่าเทียมกัน การลงโทษผู้กระทำความผิดจึงขึ้นอยู่กับการกระทำ และสังคมมีความรู้สึกต่อการกระทำนั้นๆ ว่า อะไรเป็นปัญหาสำคัญมากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะแบ่งการกระทำความผิดอาญาออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
     1.1 ความผิดต่อแผ่นดิน หมายถึง ความผิดในทางอาญา ซึ่งนอกจากเรื่องนั้นจะมีผลต่อตัวผู้รับผลร้ายแล้ว ยังมีผลกระทบที่เสียหายต่อสังคมอีกด้วย และรัฐจำเป็นต้องป้องกันสังคมเอาไว้ด้วยการยื่นมือเข้ามาเป็นผู้เสียหายเอง ดังนั้นแม้ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยตรงจะไม่ติดใจเอาความ แต่ก็ยังต้องเข้าไปดำเนินคดีฟ้องร้องเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้

        กรณีตัวอย่างที่ 1
นายมังคุดทะเลาะกับนายทุเรียน นายมังคุดบันดาลโทสะใช้ไม้ตีศีรษะนายทุเรียนแตก นายทุเรียนไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายมังคุดในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่น ต่อมานายทุเรียนหายโกรธนายมังคุดก็ไม่ติดใจเอาเรื่องกับนายมังคุด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายทุเรียนต่อไปเพราะเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
         กรณีตัวอย่างที่ 2
นายแตงโมขับรถยนต์ด้วยความประมาทไปชนเด็กชายแตงไทยถึงแก่ความตายเป็นความผิดอาญาฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมานายแตงกวาและนางแต่งอ่อนบิดามารดาของเด็กชายแตงไทย ได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายแตงโมเป็นเงิน 200,000 บาทแล้ว จึงไม่ติดใจเอาความกับนายแตงโม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องดำเนินคดีกับนายแตงโมต่อไป เพราะความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นความผิดต่อแผ่นดิน
       1.2 ความผิดอันยอมความกันได้ หมายถึง ความผิดในทางอาญาซึ่งไม่ได้มีผลร้ายกระทบต่อสังคมโดยตรง หากตัวผู้รับผลร้ายไม่ติดใจเอาความแล้ว รัฐก็ไม่อาจยื่นมือเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้ และถึงแม้จะดำเนินคดีไปแล้ว เมื่อตัวผู้เสียหายพอใจยุติคดีเพียงใดก็ย่อมทำได้ด้วยการถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความ เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เป็นต้น

          กรณีตัวอย่างที่ 1 นายโก๋และนางกี๋ลักลอบได้เสียกัน นายแฉแอบเห็นเข้า จึงได้นำความไปเล่าให้นายเชยผู้เป็นเพื่อนฟัง การกระทำของนายแฉมีความผิดฐานหมิ่นประมาท เมื่อนายโก๋และนางกี๋รู้เข้าจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ นายแฉไปหานายโก๋และนางกี๋  เพื่อขอขมานายโก๋และนางกี๋จึงถอนคำร้องทุกข์ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับนายแฉอีกต่อไป ถือว่าเป็นความผิดอันยอมความกันได้
           กรณีตัวอย่างที่ 2
นายตำลึงล่ามโซ่ใส่กุญแจประตูใหญ่บ้านของนายมะกรูด ทำให้นายมะกรูดออกจากบริเวณบ้านไม่ได้ นายมะกรูดต้องปีนกำแพงรั้งกระโดลงมา การกระทำของนายตำลึงเป็นความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้ปราศจากเสรีภาพ นายมะกรูดจึงไปแจ้งความยังสถานีตำรวจ นายตำลึงได้ไปหานายมะกรูดยอมรับความผิด และขอร้องไม่ให้นายตำลึงเอาความกับตนเอง นายตำลึงเห็นใจจึงไปถอนคำร้องทุกข์ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินคดีต่อไปอีกไม่ได้เพราะเป็นความผิดอันยอมความกันได้

2. ลักษณะสำคัญของกฎหมายอาญา  
   2.1 เป็นกฎหมายที่กำหนดเป็นความผิดชัดแจ้ง ในขณะกระทำความผิดต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วอย่างชัดแจ้งว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายจะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาใช้บังคับแก่ประชาชนคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้ เช่น กฎหมายบัญญัติว่า “การลักทรัพย์เป็นความผิด” ดังนั้น ผู้ใดลักทรัพย์ก็ย่อมมีความผิดเช่นเดียวกัน
   2.2 เป็นกฎหมายที่ไม่มีผลย้อนหลัง เป็นโทษไม่ได้แต่เป็นคุณได้ ถ้าหากในขณะที่มีการกระทำสิ่งใดยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด แม้ต่อมาภายหลังจะมีกฎหมายบัญญัติว่าการกระทำอย่างเดียวกันนั้นเป็นความผิด ก็จะนำกฎหมายใหม่ใช้กับผู้กระทำผิดคนแรกไม่ได้
        กรณีตัวอย่าง นายมะม่วงมีต้นไม้สักขนาดใหญ่ซึ่งขึ้นในที่ดิน ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของเขา นายมะม่วงได้ตัดต้นสัก เลื่อยแปรรูปเก็บเอาไว้ ก่อนที่จะมีพระราชบัญญัติป่าไม้ ฉบับที่ 3 ออกมาบังคับใช้ ถือว่าไม้สักเป็นไม้หวงห้ามก็ตาม นายมะม่วงก็ไม่มีความผิด เพราะจะใช้กฎหมายใหม่ย้อนหลังลงโทษทางอาญาไม่ได้
3. โทษทางอาญา               
                1) ประหารชีวิต คือ นำตัวไปยิงด้วยปืนให้ตาย
                2) จำคุก คือ นำตัวไปขังไว้ที่เรือนจำ
                3) กักขัง คือนำตัวไปขังไว้ ณ ที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น นำไปขังไว้ที่สถานีตำรวจ
                4) ปรับ คือ นำค่าปรับซึ่งเป็นเงินไปชำระให้แก่เจ้าพนักงาน
                5) ริบทรัพย์สิน คือ ริบเอาทรัพย์สินนั้นเป็นของหลวง เช่น ปืนเถื่อน ให้ริบ ฯลฯ

4. บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาและได้รับโทษทางอาญาเมื่อใด
  4.1 กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
      กรณีตัวอย่างที่ 1 นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
     กรณีตัวอย่างที่ 2 ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
  4.2 กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
 4.3 กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
    กรณีตัวอย่าง นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
    อนึ่ง “การกระทำ” ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ
   1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”
   2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
       กรณีตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท  ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้  เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท
 

5. เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษ
   โดยหลักทั่วไปแล้วบุคคลใดกระทำความผิดต้องรับโทษ แต่มีบางกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษ   เหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษนั้น เป็นกรณีที่กฎหมายไม่ลงโทษผู้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด หมายความว่า ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ต่างกับกรณียกเว้นความผิด ซึ่งผู้กระทำไม่มีความผิดเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามทั้งเหตุยกเว้นและหยุดยกเว้นความผิดต่างก็มีผลทำให้ผู้กระทำรับโทษเหมือนๆกัน
เหตุยกเว้นโทษทางอาญา 
     
 
การกระทำความผิดอาญาที่ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษถ้ามีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เช่น
      1. การกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
      2. การกระทำความผิดเพราะความบกพร่องทางจิต
      3. การกระทำความผิดเพราะความมึนเมา
      4. การกระทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน
      5. สามีภริยากระทำความผิดต่อกันในความผิดเกี่ยวกับทรัพย์บางฐาน
      6. เด็กอายุไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด

6. เด็กและเยาวชนกระทำความผิด     
เด็กอาจกระทำความผิดได้เช่นเดียวผู้ใหญ่ แต่การกระทำความผิดของเด็กอาจได้รับโทษต่างจากการกระทำของผู้ใหญ่ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กเป็นผู้อ่อนเยาว์ ปราศจากความรู้สึกรับผิดชอบหรือขาดความรู้สึกสำนึกเท่าผู้ใหญ่ การลงโทษเด็กจำต้องคำนึงถึงอายุของเด็ก   ผู้กระทำความผิดด้วย   กฎหมายได้แบ่งการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ
      1) เด็กอายุไม่เกิน 7 ปี
      2) เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ยังไม่เกิน 14 ปี
      3) เยาวชนอายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี
      4) เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี
            สำหรับเด็กในช่วงอายุไม่เกิน 7 ปี และเด็กอายุกว่า 7 ปีแต่ไม่เกิน 14 ปีเท่านั้น  ที่กฎหมายยกเว้นโทษให้ ส่วนผู้ที่อายุเกินกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี และผู้ที่มีอายุกว่า 17 ปี  แต่ไม่เกิน 20 ปี หากกระทำความผิดกฎหมายก็จะไม่ยกเว้นโทษให้ เพียงแต่ให้รับลดหย่อนโทษให้
     6.1 เด็กอายุไม่เกิน 7 ปีการกระทำความผิด เด็กไม่ต้องรับโทษเลย ทั้งนี้เพราะกฎหมายถือว่าเด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถรู้ผิดชอบได้ ฉะนั้นจะมีการจับกุมฟ้องร้อยเกในทางอาญามิได้
     6.2 เด็กอายุกว่า 7 ปี แต่ไม่เกิน 14 ปีกระทำความผิด เด็กนั้นก็ไม่ต้องรับโทษเช่นกัน แต่กฎหมายให้อำนาจศาลที่จะใช้วิธีการสำหรับเด็ก เช่น
       1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป
       2) เรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
       3) มอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
       4) มอบเด็กให้แก่บุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ เมื่อเขายอมรับข้อกำหนดที่จะระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้าย
       5) กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติ
       6) มอบตัวเด็กให้กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควร เพื่อดูและอบรมและสั่งสอนเด็กในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอม
       7) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียนหรือสถานฝึกอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรม
       6.3 เยาวชนอายุเกิน 14 ปี แต่ไม่เกิน 17 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 14 ปีแต่ไม่เกิน 17 ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้นในอันควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ศาลอาจใช้วิธีการตามข้อ 6.2 หรือลงโทษเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยลดมาตราส่วนโทษที่จะใช้กับเยาวชนนั้นลงกึ่งหนึ่ง ก่อนที่จะมีการลงโทษเยาวชนผู้กระทำความผิด
       6.4 เยาวชนอายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปีกระทำความผิด ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กระทำอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลง 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้จะเห็นได้ว่า ผู้ที่อายุกว่า 17 ปี แต่ไม่เกิน 20 ปี กฎหมายไม่ถือว่าเป็นเด็ก   แต่กฎหมายก็ยอมรับว่า บุคคลในวัยนี้ยังมีความคิดอ่านไม่เท่าผู้ใหญ่จริง จึงไม่ควรลงโทษเท่าผู้ใหญ่กระทำความผิด โดยให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะพิจารณาว่า สมควรจะลดหย่อนผ่อนโทษให้หรือไม่ ถ้าศาลพิจารณาสิ่งต่างๆที่เกี่ยวกับผู้กระทำความผิด เช่น ความคิดอ่าน การศึกษาอบรม ตลอดจนพฤติการณ์ในการกระทำความผิด เช่น กระทำความผิดเพราะถูกผู้ใหญ่เกลี้ยกล่อม หากศาลเห็นสมควรลดหย่อนผ่อนโทษให้ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษได้ 1 ใน 3 หรือกึ่งหนึ่งการลดมาตราส่วนโทษ คือ การลดอัตราโทษขั้นสูงและโทษขั้นต่ำลง 1 ใน 3  หรือกึ่งหนึ่งแล้ว จึงลงโทษระหว่างนั้น แต่ถ้ามีอัตราโทษขั้นสูงอย่างเดียวก็ลดเฉพาะอัตราโทษขั้นสูงนั้น แล้วจึงลงโทษจากอัตราที่ลดแล้วนั้น

       กรณีตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 536/2516 จำเลยอายุ 19 ปี ยอมมีความรู้สึกผิดชอบน้อย ได้กระทำความผิดโดยเข้าใจว่าผู้ตายข่มเหงน้ำใจตน ศาลเห็นสมควรลดมาตราส่วนโทษลง 1 ใน 3
 

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน


กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล
บุคคล
หมายถึง สิ่งที่กฎหมายกำหนดให้มีสิทธิหน้าที่ได้ตามกฎหมาย
สภาพบุคคล เริ่มต้นตั้งแต่แรกคลอดเป็นทารกและสิ้นสุดสภาพบุคคลเมื่อตายหรือสาบสูญตาม คำสั่งของศาล
การสาบสูญ คือ การหายจากภูมิลำเนาในภาวะปกติเกิน 7 ปี หรือหายจากภาวะที่เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น เรืออับปาง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 3 ปี                ถือว่าเป็นคนสาบสูญได้ ในกรณีที่ผู้สาบสูญกลับมา สามารถขอร้องต่อศาลให้ถอนคำสั่งสาบสูญได้
บุคคลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
   1. บุคคลธรรมดา หมายถึง บุคคลที่มีความสามารถ สามารถทำนิติกรรมได้ตามที่กฎหมายกำหนด
          ส่วนประกอบของสภาพบุคคล
            1. ชื่อตัว - ชื่อสกุล
            2. สัญชาติ ได้มาโดยการเกิด การสมรส การแปลงชาติ
            3. ภูมิลำเนา คือถิ่นที่อยู่ประจำและแน่นอนของบุคคล
            4. สถานะ คือ ฐานะของบุคคลตามกฎหมายซึ่งทำให้เกิดสิทธิ เช่น โสด สมรส หย่า
   2. นิติบุคคล หมายถึง หมู่คนหรือสิ่งที่กฎหมายรับรองสภาพอย่างบุคคลธรรมดา และมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบในนามของกิจการ
เช่น กระทรวง ทบวง กรม บริษัท สมาคม มูลนิธิ และวัด เป็นต้น
ทรัพย์และทรัพย์สิน ทรัพย์ หมายถึง วัตถุ หรือสิ่งที่มีรูปร่าง
ทรัพย์สิน หมายถึง ทรัพย์และวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น ลิขสิทธิ์ (ทรัพย์สินทางปัญญา)
     ประเภทของทรัพย์สิน
        1. อสังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์สินที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
        2. สังหาริมทรัพย์ หมายถึง ทรัพย์ที่สามารถเคลื่อนที่ได้
นิติกรรม       นิติกรรม คือการแสดงเจตนาผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับสิทธิ์
หลักการทำนิติกรรม
     1. มีการแสดงเจตนาของบุคคล โดยการพูด เขียน หรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย
     2. การกระทำนั้นต้องทำด้วยความสมัครใจ
     3. มีเจตนาที่จะให้เกิดผลตามกฎหมาย
นิติกรรมที่เป็นโมฆะและโมฆียะ      1. นิติกรรมที่เป็น  โมฆะ    คือ นิติกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ตั้งแต่แรก ซึ่งไม่เกิดผลทางกฎหมาย
     2. นิติกรรมที่เป็น  โมฆียะ    คือ นิติกรรมที่มีผลสมบูรณ์จนกว่าจะถูกบอกล้าง เช่น
        นิติกรรมที่ผู้เยาว์กระทำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม เมื่อมีการบอกล้างแล้ว โมฆียะกรรมจะกลายเป็นโมฆะ
สัญญาต่าง ๆ ประเภทของสัญญา
สัญญาซื้อขายธรรมดา แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
1. คำมั่นว่าจะซื้อหรือจะขาย คือ มีการให้คำมั่นเสนอว่าจะซื้อหรือจะขาย
2. สัญญาจะซื้อจะขาย คือ สัญญาตกลงกันในสาระสำคัญของสัญญาจะซื้อจะขาย
3. สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด คือ เป็นสัญญาที่ตกลงกันตามสาระสำคัญของสัญญากันเรียบร้อยแล้ว
สัญญาซื้อขายเฉพาะอย่าง แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
   1. สัญญาซื้อขายเงินสด คือ สัญญาที่ผู้ซื้อตกลงชำระราคาสินค้าเป็นเงินสดทันที เมื่อมีการซื้อขายกัน
   2. สัญญาซื้อขายผ่อนส่ง คือ สัญญาการซื้อขายที่มีการส่งมอบทรัพย์สินให้กับผู้ซื้อแล้ว แต่ผู้ซื้อยังไม่ได้ชำระราคา อาจตกลงผ่อนชำระเป็นงวด ๆ
   3. สัญญาขายฝาก คือ สัญญาซื้อขายที่ผู้ขายฝากต้องการเงินจำนวนหนึ่งจากผู้ซื้อ จึงนำทรัพย์สินมาโอนให้กับผู้ซื้อฝาก          และผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินกับคืนได้ภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ หากครบกำหนดไถ่คืนแล้ว ผู้ขายฝากไม่มาไถ่คืน          ทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของผู้ซื้อฝากโดยเด็ดขาด
   4. การขายทอดตลาด คือ การซื้อขายที่ประกาศให้ประชาชนมาประมูลซื้อสู้ราคากันโดยเปิดเผย ประกอบด้วยบุคคล 4 ฝ่าย คือ
               - ผู้ขายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือผู้มีอำนาจขายทรัพย์สินได้
               - ผู้ทอดตลาด
               - ผู้สู้ราคา
               - ผู้ซื้อ
สัญญาเช่าทรัพย์ เช่าซื้อ แบ่งออกเป็น
      1. สัญญาเช่าทรัพย์
            - ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ต้องมีหลักฐานเป็นตัวหนังสือ
            - ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ
      2. สัญญาเช่าซื้อ คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์นั้นให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือจะให้ทรัพย์นั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าซื้อ         โดยมีเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว การทำสัญญาเช่าซื้อต้องทำหนังสือลงลายมือชื่อในสัญญาทั้งสองฝ่าย
สัญญากู้ยืมเงิน
             เป็นสัญญาที่ผู้กู้และผู้ให้กู้ได้ตกลงกันในการยืมเงินและจะคืนเงินให้ตามเวลาที่กำหนดไว้โดยมีการเสียดอกเบี้ย
การกู้ยืมเงินตั้งแต่ 2,000 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานลงลายมือชื่อผู้กู้ไว้เป็นสำคัญ
กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัว
      การหมั้น คือ การทำสัญญาระหว่างชายหญิงว่าจะสมรสกัน จะทำได้เมื่อชายและหญิงอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ถ้าชายและหญิงเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
      การสมรส การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงอายุครบ 17 ปีบริบูรณ์หากมีอายุต่ำกว่านี้ต้องศาลอนุญาต
ทรัพย์สินของสามีและภรรยา แบ่งเป็น
      1. สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่สามีหรือภรรยามีก่อนสมรส
      2. สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการสมรส
การสิ้นสุดการสมรส
      1. ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
      2. คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถึงแก่กรรม
      3. การหย่า
- สิทธิและหน้าที่ของบิดาและมารดา บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตร
- สิทธิและหน้าที่ของบุตร บุตรมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของตนเป็นการตอบแทน
กฎหมายเรื่องมรดก
   มรดก คือ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตายหรือเจ้าของมรดก ซึ่งเมื่อเจ้าของมรดกถึงแก่ความตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาททันทีที่ตาย
   ทายาท คือ ผู้มีสิทธิได้รับมรดก 2 ประเภท
         1. ทายาทโดยธรรม คู่สมรสและญาติสนิท
         2. ทายาทตามพินัยกรรม ผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดกตามพินัยกรรมระบุไว้

   พินัยกรรม คือ เอกสารที่เจ้าของมรดกแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์
กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
   1. กฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นการกำหนดสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่ของบุคคล
-สิทธิ หมายถึง ประโยชน์ซึ่งกฎหมายรับรอง คุ้มครองให้กับบุคคล เช่น สิทธิทางการเมือง สิทธิในทรัพย์สิน
-เสรีภาพ หมายถึง การกระทำของบุคคลที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย เช่น เสรีภาพในร่างกาย เสรีภาพในการพูด การพิมพ์ การเขียน การนับถือศาสนา
-หน้าที่ คือ สิ่งที่บุคคลจะต้องกระทำหรืองดเว้นกระทำ ในฐานะสมาชิกของรัฐ เช่น การเสียภาษีอากร การป้องกันประเทศ

2. กฎหมายเลือกตั้ง เป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมการจัดและดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและยุติธรรม

3. กฎหมายเกี่ยวกับทะเบียนราษฎร์
       - เมื่อมีคนเกิดต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน
       - เมื่อมีคนตายต้องแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน 24 ชม.
       - เมื่อย้ายที่อยู่อาศัยต้องแจ้งภายใน 15 วัน

4. กฎหมายเกี่ยวกับบัตรประชาชน
       - บุคคลที่มีสัญชาติไทยอายุ  ตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 70 ปี  ต้องขอมีบัตรประชาชน
       - การเปลี่ยนชื่อตัว - ชื่อสกุล ต้องขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วั น      
       - บัตรสูญหายต้องขอเปลี่ยนใหม่ ภายใน 60 วัน
         บุคคลที่ไม่ต้องมีบัตรประชาชน ได้แก่ พระภิกษุ ข้าราชการ นักโทษ และบุคคลที่มีอายุเกิน 70ปี ขึ้นไป

5. กฎหมายเกี่ยวกับการรับราชการทหาร        - ชายไทยที่มีสัญชาติไทย อายุย่างเข้า 18 ปีบริบูรณ์ ให้ไปแสดงตัวเพื่อลงบัญชีพลทหารกองเกินภายในเขตภูมิลำเนาของตน
       - เมื่ออายุย่างเข้า 21 ปี ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกและต้องทำการตรวจเลือกเพื่อเข้าเป็นทหารกองประจำการตามกำหนดนัด
        *บุคคลที่ไม่ต้องเป็นทหารประจำการ ได้แก่ พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ คนพิการทุพพลภาพ       บุคคลที่ขาดความสามารถบางประการที่ไม่อาจเป็นทหารได้

6. กฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสะอาดของชุมชน และสิ่งแวดล้อม
      - พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เช่น การสร้าง ดัดแปลง ต่อเติม รื้อถอน ต้องขออนุญาตต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น
      - พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2518
      - พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2522