การปกครองสมัยรัตนโกสินทร์
1. การปกครองส่วนกลาง มีหน่วยงานสำคัญ คือ
1.1 อัครมหาเสนาบดี มี 2 ตำแหน่ง คือ
- สมุหกลาโหม มีเจ้าพระยามหาเสนาเป็นผู้บังคับบัญชา ใช้ตราคชสีห์เป็นตราประจำตำแหน่ง ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทหาร และหัวเมืองปักษ์ใต้ 20 หัวเมือง
- สมุหนายก ว่าการมหาดไทย ทำหน้าที่ในการปกครองดูแล ราชการฝ่ายพลเรือนทั่วไป และยังทำหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งปวงด้วย
1.2 เสนาบดีจตุสดมภ์ เป็นตำแหน่งรองจากอัครมหาเสนาบดีมี 4 ตำแหน่ง ได้แก่
- เสนาบดีกรมเมือง (นครบาล) ใช้ตราพระยมทรงสิงห์เป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปในพระนคร ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน
- เสนาบดีกรมวัง (ธรรมาธิกรณ์) ใช้ตราเทพยาดาทรงพระโคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับงานพระราชพิธีต่างๆ พิจารณาคดีที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้วินิจฉัย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "ธรรมาธิกรณ์"- เสนาบดีกรมพระคลัง (โกษาธิบดี) ใช้ตราบัวแก้วเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับรายรับ-รายจ่ายของแผ่นดิน ติดต่อกับชาวต่างประเทศที่มาติดต่อค้าขาย ดูแลบังคับบัญชาหัวเมืองชายทะเลตะวันออก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "กรมท่า"
- เสนาบดีกรมนา (เกษตราธิการ) ใช้ตราพระพิรุณทรงนาคเป็นตราประจำตำแหน่ง มีหน้าที่ตรวจตราดูแลการทำไร่นา เก็บภาษีนา ซึ่งเรียกว่าหางข้าว ขึ้นฉางหลวง เพื่อเป็นเสบียงอาหารสำรองไว้ใช้ในยามเกิดสงคราม
2. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ลักษณะ คือ
2.1 หัวเมืองชั้นใน ได้แก่หัวเมืองชั้นจัตวาที่รายรอบพระนคร มีผู้รั้งเป็นผู้ปกครอง เดิมเรียกว่าเมืองลูกหลวง หรือเมืองหน้าด่าน
2.2 หัวเมืองชั้นนอก คือหัวเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ที่อยู่ห่างไกลพระนคร มีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครอง มีอำนาจสิทธิ์ขาดแทนพระองค์ทุกประการ หัวเมืองเหล่านี้อาจจะมีเมืองขึ้นอยู่ในครอบครองด้วย
2.3 การปกครองประเทศราช ดำเนินตามแบบสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ ให้อิสระในการปกครอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการ ต้นไม้ทอง ต้นไม้เงิน ซึ่งฝ่ายไทยจะเป็นผู้กำหนด หัวเมืองประเทศราชในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่สำคัญ คือ ลานนา ไทย ลาว เขมร และหัวเมืองมลายู
3. การปกครองท้องที่ ท้องที่ที่เล็กที่สุดคือหมู่บ้าน ซึ่งเจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านเป็นหัวหน้าปกครอง หลายหมู่บ้านรวมกันเป็นตำบล มีกำนันเป็นหัวหน้าปกครอง หลายตำบลรวมกันเป็นแขวง มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง และหลายแขวงรวมกันเป็นเมือง มีผู้รั้งหรือเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองการปรับปรุงด้านการศาลและกฎหมายกฎหมายที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ชำระขึ้นในปี พ.ศ.2347 นั้น เรียกว่า กฎหมายตราสามดวง ที่เรียกเช่นนั้นเพระเมื่อรวบรวมและชำระเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้อาลักษณ์คัดลอกไว้เป็น 3 ฉบับ ทุกฉบับประทับตราคชสีห์ ตราราชสีห์ และตราบัวแก้ว ซึ่งเป็นตราประจำตำแหน่งสมุหกลาโหม สมุหนายก และพระยาพระคลัง ซึ่งเป็นเสนาบดีที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร กล่าวคือสมุหกลาโหมปกครองดูแลหัวเมืองภาคใต้ สมุหนายกปกครองดูแลหัวเมืองทางภาคเหนือและภาคอีสาน พระยาพระคลัง ปกครองดูแลหัวเมืองชายทะเลภาคตะวันออกส่วนระบบการศาลของไทยในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีลักษณะเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ กระจายอยู่ตามกรมต่างๆ จำนวนมากมายทั้งเมืองหลวงและหัวเมือง ศาลจึงมีจำนวนมากมาย เช่นศาลหลวง ศาลอาญา ศาลนครบาล ศาลกรมวัง ศาลกรมนา ฯลฯ เมื่อเกิดคดีฟ้องร้องในเรื่องที่เกี่ยวกับกรมใด ก็ให้ศาลกรมนั้นพิจารณาตัดสินคดี ส่วนการลงโทษคงใช้ระบบจารีตนครบาล ได้แก่การเฆี่ยน ตอกเล็บ บีบขมับ การพิสูจน์คดียังคงใช้วิธีการดำน้ำพิสูจน์ ลุยไฟพิสูจน์ และถ้าไม่พอใจคำตัดสินสามารถฎีกาได้โดยไปตีกลองวินิจฉัยเภรี ซึ่งผู้ร้องทุกข์ต้องถูกเฆี่ยน 30 ที เพื่อพิสูจน์ว่าเรื่องที่ฎีกานี้เป็นจริง ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 จึงโปรดฯให้เลิกประเพณีเฆี่ยนแล้วให้ร้องทุกข์โดยตรงต่อพระองค์เอง
จารีตนครบาลราษฎรที่ถูกทางราชการฟ้องว่ากระทำความผิดต่อพระเจ้าแผ่นดิน หรือต่อบ้านเมืองมักไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะกฎหมายถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาเสียแล้ว ตรงกันข้ามกับหลักฐาน กฎหมายไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งถือว่าทุกคนที่มาศาลเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่าเขาเป็นผู้กระทำผิด เมื่อถือแต่ชั้นแรกว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ผิด ทางการจึงมีความประสงค์ให้จำเลยรับสารภาพแต่โดยดี ถ้าจำเลยไม่สารภาพ ก็ยอมให้ศาลนครบาล หรือศาลอื่นที่มีอำนาจพิจารณาคดีใช้จารีตนครบาลได้ จารีตนครบาล คือการลงทัณฑ์เพื่อผดุงความยุติธรรม ในระหว่างการพิจารณาของตระลาการ ตระลาการมีอำนาจลงทัณฑ์เฆี่ยน ตี ตอกเล็บ บีบขมับ หรือทรมานจำเลยด้วยวิธีต่าง ๆ จนกว่าจำเลยจะรับสารภาพ ถ้าตระลาการเชื่อว่าจำเลยยังสารภาพไม่หมดเปลือก หรือเชื่อว่าจำเลยไม่ยอมซัดทอดผู้ร่วมกระทำผิด ก็มีอำนาจที่จะลงโทษลงทัณฑ์จำเลยต่อไปอีก แม้ว่าจำเลยจะรับสารภาพว่าตนเป็นผู้กระทำผิดแล้ว จารีตนครบาลมีทั้งผลดีและผลเสีย ที่ว่าเป็นผลดี เพราะผู้ร้ายมักจะยอมสารภาพความผิดและซัดทอดพรรคพวกที่ร่วมกระทำผิด และทำให้ราษฎรกลัวเกรงกฎหมายของบ้านเมือง ผิดกับกฎหมายสมัยปัจจุบันที่ยอมให้ผู้ร้ายปฏิเสธความผิดได้อย่างลอยนวล ผู้ร้ายจะโกหกศาลหรือไม่ให้การต่อศาลก็ได้ ไม่มีโทษภัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น ข้อนี้เป็นเหตุให้ผู้ร้ายได้ใจ ไม่กลัวการขึ้นศาลเหมือนแต่ก่อน แต่จารีตนครบาลมีผลเสียในข้อที่อาจพลาดได้ จำเลยบางคนอาจเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ทนการทรมานไม่ได้ ก็ต้องสารภาพ เลยถูกจำคุกจนตายหรือถูกประหารชีวิตไปก็มี นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้พวกเจ้าหน้าที่ศาล ทำการทุจริตรีดไถจำเลยอีกด้วย
อ้างอิง
http://quickr.me/djnfSjI
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น